มีบุตรยาก รักษาอย่างไร
ในการเลือกวิธีในการรักษาภาวะมีบุตรยากนั้น จะขึ้นอยู่กับสาเหตุของการมีบุตรยากที่ตรวจพบเป็นหลัก โดยพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น อายุ ระยะเวลาของการพยายามมีบุตร ความคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกในการรักษาวิธีอื่นๆ โดยวิธีของการรักษามีบุตรยาก ได้แก่
- การฉีดน้ำเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูก (Intrauterine insemination, IUI)
- การทำเด็กหลอดแก้วหรือการปฏิสนธินอกร่างกาย (In vitro fertilization, IVF)
- การทำอิ๊กซี่ (ICSI) และอิมซี่ (IMSI)
- การทำอิมซี่ (Intracytoplasmic morphologically selected sperm injection, IMSI) เป็นเทคนิคที่ใช้ในการเลือกตัวอสุจิที่จะนำมาใช้ในการฉีดเข้าเซลล์ไข่ โดยอาศัยกล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษทดแทนกล้องที่ใช้ในการทำอิกซี่ โดยมีกำลังขยายมากถึง 6,600 เท่า สามารถมองเห็นรายละเอียดของตัวอสุจิได้มากขึ้น จึงค่อนข้างมีประโยชน์ในคู่สมรสที่ฝ่ายชายมีอสุจิที่ผิดปกติมาก ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิ การฝังตัว และการตั้งครรภ์ได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับการทำอิ๊กซี่
- การทำกิฟท์ (Gamete intrafollopain transfer, GIFT) และซิฟท์ (Zygote intrafollopian transfer, ZIFT) การทำกิฟท์เป็นเทคนิคที่ต้องอาศัยการผ่าตัดส่องกล้อง โดยเป็นการผ่าตัดเพื่อนำเอาเซลล์ไข่และอสุจิที่ผ่านการเตรียมในห้องปฏิบัติการฉีดเข้าไปในส่วนของท่อนำไข่ เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิกันเองต่อไป โดยจำเป็นต้องมีท่อนำไข่ที่ดีอย่างน้อย 1ข้าง ส่วนการทำซิฟท์นั้นมีความคล้ายคลึงกับกิฟท์เพียงแต่จะนำเอาเซลล์ไข่มาผสมกับตัวอสุจิในห้องปฏิบัติการเพื่อให้เกิดการปฏิสนธิจนได้ตัวอ่อนขึ้นมาก่อน และนำตัวอ่อนนั้นย้ายกลับเข้าไปทางท่อนำไข่ผ่านการผ่าตัดส่องกล้อง โดยทั้งสองวิธีนี้มีอัตราความสำเร็จที่ไม่ได้สูงไปกว่าการทำเด็กหลอดแก้ว และยังต้องอาศัยการผ่าตัดส่องกล้องเพิ่มขึ้น ปัจจุบันจึงไม่เป็นที่นิยมและแพทย์มักใช้การทำเด็กหลอดแก้วในการรักษาแทน